การประดิษฐิ์แผนที่ดาว

ระดับชั้นเรียน:  ป.4 – ม.3
กำหนดเวลา:  2 ชั่วโมง
วัตถุประสงค์:  เพื่อประดิษฐ์แผนที่ดาววงกลมเพื่อใช้ในการดูดาว

วัสดุอุปกรณ์:
          1. กระดาษขนาด A4 หนา 180 แกรม (หรือหนากว่า) จำนวน 2 แผ่น
          2. สติกเกอร์ใสขนาด A4 จำนวน 3 แผ่น
          3. แผ่นใสขนาด 11.5 x 15 cm จำนวน 1 แผ่น
          4. ไม้บรรทัดยาว 30 cm จำนวน 1 อัน
          5. ตาไก่ทองเหลือง 1 อัน
          6. กระดาษแข็ง หรือแผ่นรองตัด 1 แผ่น
          7. มีด, กรรไกร, กาวยาง หรือเทปกาว 2 หน้า
          8. ค้อน


ภาพที่ 1 แผ่นแผนที่
คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด


ภาพที่ 2  แผ่นขอบฟ้า


ภาพที่ 3  แผ่นเส้นกริด

          1. พิมพ์รูปแผ่นแผนที่ และแผ่นขอบฟ้า ลงบนกระดาษหนา ขนาด A4 ทั้งสองแผ่น
          2. นำสติกเกอร์ใสเคลือบกระดาษ A4 ที่พิมพ์แล้วทั้งสองแผ่น โดยเคลือบแผนที่ดาวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
แต่เคลือบแผ่นขอบฟ้าเฉพาะด้านหน้า โดยใช้ไม้บรรทัดรีดสติกเกอร์ บนแผ่นรองตัดหรือกระดาษแข็ง
          3. ใช้กรรไกร หรือมีดตัดขอบของแผนที่ดาว และแผ่นขอบฟ้า ทั้ง 2 แผ่น
          4. นำแผ่นขอบฟ้ามาทากาว หรือติดกาวสองหน้า ที่ขอบของด้านหลังของบริเวณที่ต้องตัดออก เพื่อติดแผ่นเส้นกริด (ภาพที่ 3) และตัดแผ่นใสในส่วนที่ยื่นเกินแผ่นขอบฟ้าออกมา
          5. ใช้มีดเจาะรู ให้ทะลุจุดศูนย์กลางของแผ่นขอบฟ้า และแผ่นแผนที่
          6. ใช้มีดกรีดกระดาษ เพื่อตัดกระดาษบริเวณท้องฟ้าของแผ่นขอบฟ้าออก แต่ไม่ควรกรีดแรงจนทำให้แผ่นใสด้านล่างทะลุ
          7. นำแผ่นแผนที่ และแผ่นขอบฟ้าที่ตัดแล้วมาประกบกัน โดยให้รูตรงจุดศูนย์กลางตรงกัน
แล้วนำตาไก่อุดตรงรู ใช้ค้อนตีให้แน่น
          8. ทดสอบการใช้งานโดยการหมุนแผ่นบน และแผ่นล่างสวนทางกันให้คล่อง แล้วนำไปทดลองดูดาวได้เลย


ภาพที่ 4  แผนที่ดาววงกลม

วิธีใช้งาน

          ตั้งเวลาที่จะสังเกตการณ์ โดยหมุน "นาฬิกา" (ที่ขอบแผ่นขอบฟ้า) ให้ตรงกับ "ปฏิทิน" (ที่ขอบแผนที่ดาว) ตัวอย่างเช่น ต้องการดูดาวในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 5 เดือนมกราคม ก็ให้หมุนแผ่นขอบฟ้ามาจนกระทั่ง ขีดสเกล "05.00" ตรงกับ สเกลขีดที่ 5 เดือนมกราคม
          จับแผนที่ดาวแหงนขึ้น โดยให้ทิศเหนือและทิศใต้บนแผนที่ดาว ชี้ตรงกับทิศเหนือและทิศใต้ของภูมิประเทศจริง ควรระลึกไว้เสมอว่า การอ่านแผนที่ดาวมิใช่การก้มอ่านหนังสือ แต่เป็นการแหงนดู เพื่อเปรียบเทียบท้องฟ้าในแผนที่กับท้องฟ้าจริง
เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ให้หมุนแผ่นขอบฟ้า (แผ่นบน) ตามทิศตามเข็มนาฬิกา ไปยังเวลาปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า กลุ่มดาวทางทิศตะวันออกของแผนที่ จะเคลื่อนที่ออกห่างจากขอบฟ้า (E) มากขึ้น ในขณะที่กลุ่มดาวในทิศตะวันตก จะเคลื่อนที่เข้าหาขอบฟ้า (W) เสมือนการเคลื่อนที่ ขึ้น-ตก ของกลุ่มดาวบนท้องฟ้าจริง
          จะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะหมุนแผ่นขอบฟ้าไปอย่างไรก็ตาม เส้นศูนย์สูตรฟ้าจะอยู่ตรงแนวทิศตะวันออก (E) และตะวันตก (W) เสมอ เพราะนั่นคือเส้นแบ่งซีกท้องฟ้า และเส้นสุริยะวิถีตรงกลุ่มดาวคนคู่ จะอยู่ค่อนไปทางเหนือ (โซลสติสฤดูร้อน) และเส้นสุริยะวิถีตรงกลุ่มดาวคนยิงธนู จะอยู่ค่อนไปทางใต้ (โซลส์ติซฤดูหนาว) วงกลมทั้งสองเอียงตัดกันเป็นมุม 23.5° เนื่องเพราะแกนของโลกเอียงทำมุมกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์

การฝึกปฏิบัติ:  ในการฝึกใช้งานในห้องเรียน ถ้ามี PC และ LCD projector ควรจะใช้ซอฟต์แวร์ Stellarium หรือ Starry Night จำลองท้องฟ้า ให้นักเรียนฝึกหมุนแผนที่ดาวตาม