แผนที่ดาววงกลมเป็นอุปกรณ์อย่างง่าย
ที่ช่วยในการวางแผนและสังเกตการณ์ท้องฟ้า แผนที่ดาวชนิดนี้ประกอบด้วย
แผ่นกระดาษสองใบคือ แผนที่ดาว (แผ่นล่าง) และแผ่นขอบฟ้า (แผ่นบน)
ซ้อนกันอยู่ และยึดติดกันด้วยตาไก่ ที่ตรงจุดศูนย์กลาง
แผ่นแผนที่ (ภาพที่ 1) มีจุดศูนย์กลางเป็นขั้วฟ้าเหนือ ดาวเหนือจะอยู่ตรงตาไก่พอดีตรงปลายกลุ่มดาวหมีเล็ก ที่กึ่งกลางของรัศมีแสดงด้วยเส้นวงกลมเป็น "เส้นศูนย์สูตรฟ้า" กลุ่มดาวที่อยู่ภายในคือ "ซีกฟ้าเหนือ" กลุ่มดาวที่อยู่ภายในนอกคือ "ซีกฟ้าใต้" ใกล้ๆ กับเส้นศูนย์สูตรฟ้า จะเป็น "เส้นสุริยะวิถี" ซึ่งแสดงด้วยวงกลมเส้นประ กลุ่มดาวที่อยู่บนเส้นสุริยะวิถีจะเป็นกลุ่มดาวจักราศีทั้ง 12 กลุ่ม บริเวณแถบวงแหวนสีเทาบนแผนที่ดาวแสดง "ทางช้างเผือก" ที่ขอบของแผนที่เป็นสเกล "ปฏิทิน" บอก "วันที่" และ "เดือน"
แผ่นขอบฟ้า (ภาพที่ 2) เป็นแผ่นเจาะช่อง แสดงอาณาเขตของท้องฟ้า เส้นขอบฟ้า และแสดงทิศเหนือ
(N), ตะวันออกเฉียงเหนือ (NE), ตะวันออก (E), ตะวันออกเฉียงใต้ (SE),
ใต้ (S), ตะวันตกเฉียงใต้ (SW), ตะวันตก (W), ตะวันตกเฉียงเหนือ (NW)
ตามลำดับ ที่ขอบของแผ่นขอบฟ้าเป็นเสมือน "นาฬิกา"
บอกเวลาเป็น "ชั่วโมง" และมีสเกลขีดละ 10 นาที
วิธีใช้งาน ตั้งเวลาที่จะสังเกตการณ์
โดยหมุน "นาฬิกา" (ที่ขอบแผ่นขอบฟ้า) ให้ตรงกับ "ปฏิทิน"
(ที่ขอบแผนที่ดาว) คลิกเพื่อแสดงภาพเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น ต้องการดูดาวในเวลา 05.00 น. ของวันที่
5 เดือนมกราคม ก็ให้หมุนแผ่นขอบฟ้ามาจนกระทั่ง ขีดสเกล "05.00"
ตรงกับ สเกลขีดที่ 5 เดือนมกราคม ข้อพึงระวัง แผนที่ดาวแบบวงกลมนี้มีข้อจำกัด
เนื่องจากสร้างขึ้นโดยการตีแผ่ทรงกลมออกเป็นระนาบสองมิติ (360°
projection) หมายเหตุ แผนที่ดาววงกลมนี้ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้ ณ บริเวณใกล้กับละติจูด 15° เหนือ เช่น ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตามการนำไปใช้ ณ ละติจูดอื่นๆ ของประเทศไทย ก็มิได้มีแตกต่างไปจากท้องฟ้าจริงมากนัก
© 2003 - 2010 The LESA Project All rights reserved. |