คุณธรรมนำความรู้ สู่ความพอเพียง

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการมอบนโยบาย "การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ" ว่าปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จึงต้องปฏิรูปการปกครองกันใหม่ โดยเฉพาะในด้านคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่ายังด้อยอยู่ ดังนั้น รัฐบาลจึงกำหนดเรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องหลักในการให้การศึกษาแก่เยาวชน เพราะหากไม่เร่งทำอะไรให้ดีขึ้น อาจถึงขั้นทำให้สังคมล่มสลาย

"นโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลชุดนี้กำหนดไว้ชัดว่า คุณธรรมนำความรู้ แทนความรู้คู่คุณธรรม พร้อมเน้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี โดยกระบวนการเรียนรู้โดยใช้คุณธรรมเป็นฐานจะต้องเชื่อมโยงกับ 3 สถาบัน คือครอบครัว สถานศึกษา และศาสนา หรือ "บวร" คือบ้าน วัด โรงเรียน อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้กำหนดเป็นโครงการการเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทในการศึกษาของไทย โดยมอบให้แต่ละหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาพิจารณา และทบทวนสิ่งที่ทำอยู่แล้วว่ามีอะไร และมีสิ่งใหม่ที่จะเสริมเติมเต็ม โดยดึงเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นเครือข่าย รวมทั้งอาจต้องฟื้นกิจกรรมบางอย่าง เช่น กิจกรรมค่าย การบำเพ็ญประโยชน์ อาสาสมัคร เป็นต้น ในระดับอุดมศึกษา ต้องเป็นที่พึ่งให้กับการศึกษาในระดับอื่นๆ ในการให้ความรู้ความเข้าใจ และเป็นตัวอย่างการเสริมสร้างคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์"

รมว.ศธ. บรรยายพิเศษ “คุณธรรมนำความรู้ สู่สังคมแห่งสันติ” รมว.ศธ. บรรยายพิเศษ “ คุณธรรมนำความรู้ สู่สังคมแห่งสันติ  ” นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในเปิดการสัมมนาเครือข่ายครอบครัวคุณธรรม และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง    “ คุณธรรมนำความรู้ สู่สังคมแห่งสันติ ” เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๐   ที่หอประชุม พลเอกสุจินดา คราประยูร โรงเรียนทวีธาภิเศก

รมว.ศธ. ได้ย้ำนโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางด้านสังคม ซึ่ง เน้นเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย และเป็นเรื่องของกระทรวงทางด้านสังคมหลายกระทรวง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม งานบางส่วนของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศนโยบายและร่วมกันระหว่างกระทรวงที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคม ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยแต่ละกระทรวงได้นำเรื่องนี้ไปทำแผนปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขานรับนโยบายเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย โดยได้กำหนดการเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย ซึ่งระบบการศึกษาไทยเป็นระบบเก่าที่จะต้องพัฒนาเยาวชน และเสริมสร้างวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ศธ.จึงได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งเปลี่ยนจากการพัฒนาคนให้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็น “ คุณธรรมนำความรู้ ” ด้วยเหตุผลที่ว่า การที่จะสามารถพัฒนาคนให้เป็นคนดี พัฒนาให้เก่งและเป็นคนมีความสุขได้ เป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ถ้าเน้นให้เป็นคนเก่ง ดีและมีสุข ตามหลักการที่ยึดถือในการปฏิรูปการศึกษา ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเป็นเพียงคนเก่ง แต่ไม่เป็นคนดี ก็จะกลายเป็นบุคคลที่เอาเปรียบสังคม

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า นโยบายการศึกษาไทยในรัฐบาลปัจจุบัน เน้นเรื่องการพัฒนาคนดี     มีความรู้ และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน   รวมทั้งได้วางแนวทางอย่างชัดเจนในเรื่อง การตระหนักสำนึกในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี และวิถีชีวิตประชาธิปไตย   โดยมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ดำเนินการประสานกันระหว่างสถาบันหลักในสังคม ๓ สถาบัน อันได้แก่ สถาบันครอบครัว สถานศึกษาและสถาบันทางศาสนา   สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเก่าที่ถูกละเลย มา นาน

การศึกษา คือ บวร   ซึ่งแปลว่าความเจริญรุ่งเรือง แต่แท้จริงแล้วย่อมาจากคำว่า บ้าน วัด และโรงเรียน   เป็นการยึดถือมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า กระบวนการพัฒนาคน สิ่งที่มีชีวิต   คนจะเกี่ยวข้องกับ ๓ สถาบันเป็นหลัก เพราะสถาบันเหล่านี้ให้การศึกษาอบรมในทุกๆ ด้าน
ในส่วนของด้านคุณธรรม ขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ใช้ชื่อว่า “ แผนการเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย ” โดยมีคณะกรรมการเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย มีการเชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว สถาบันทางศาสนา และสถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่เครือข่ายของสถาบันต่างๆ จะร่วมกันทำให้มากขึ้น และขยายผลให้สมบูรณ์ต่อไป


แนวทางการเสริมสร้างคุณธรรมนำความรู้ และปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาจมีแนวทาง ดังนี้

ขั้นที่ 1 ร่วมกันเรียนรู้

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนตั้งแต่คณะกรรมการสถานศึกษา  ผู้บริหารโรงเรียน ครูอาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรได้ร่วมกันศึกษาเรียนรู้ สร้างความเข้าใจในสาระสำคัญ ความหมาย คุณค่าประโยชน์ของ คุณธรรมนำความรู้และค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิดตระหนักสำนึกในความสำคัญว่าเป็นทางรอดทางเดียวของสังคมไทย รวมทั้งเป็นวิถีชิวิต วัฒนธรรมไทยดั้งเดิมที่ถูกละเลิก ลืมเลือนไป เนื่องจากถูกกระแสทุนนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยมถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงจนซวนเซ หลงลืมไปนาน จำเป็นต้องร่วมมือ ร่วมใจฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

ขั้นที่ 2 กำหนดเป้าหมายการพัฒนา

ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในเสริมสร้างพัฒนาคุณธรรม และค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับสภาพปัญหา บริบท ความสามารถ ความพร้อม วัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ เช่น พึ่งตนเอง เรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง รับผิดชอบ วินัย ใช้เหตุผล ประมาณตน ทุกคนมีส่วนร่วม คำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวม ฯลฯ

ขั้นที่ 3 วิเคราะห์สภาพปัญหาผู้เรียน

ร่วมกันสังเกตจำแนก พฤติกรรม คุณลักษณะและทักษะของผู้เรียน ทั้งส่วนที่ใช่และไม่ใช่ สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนด วิเคราะห์ ทั้งลักษณะของปัญหา สาเหตุแห่งปัญหา ปัจจัยหลัก ปัจจัยเอื้อ ผลและผลกระทบที่มีต่อผู้เรียน ผู้เกี่ยวข้องและสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักและกระจ่างในปัญหา เกิดฉันทะหรือแรงบันดาลใจที่จะร่วมกันแก้ปัญหา

ขั้นที่ 4 วิเคราะห์ ประเมิน จำแนก ปัจจัย กระบวนการของโรงเรียน

ร่วมกันเปิดใจวิเคราะห์ ประเมินปัจจัย กระบวนการ ทั้งสิ้นทั้งมวลของโรงเรียน จำแนกให้ได้ว่าสิ่งใดเอื้อหรือไม่เอื้อต่อการพัฒนา สิ่งใดจัดว่ามีคุณค่าควรแก้การธำรงรักษา สิ่งใดต้องเลิกรา ปรับเปลี่ยน คิดใหม่ ทำใหม่ เช่น อยากให้ผู้เรียนพึ่งตนเอง แต่ได้จัดการเรียนรู้ให้นักเรียนเรียนรู้ในลักษณะของการพึ่งตนเองไหม ครูอาจารย์ ผู้บริหารเป็นตัวอย่างที่ดีของการพึ่งตนเองหรือเปล่า การวิเคราะห์ควรจะครอบคลุมทุกองค์ประกอบย่อยในทุกระบบ ของโรงเรียน เช่น ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน (คุณลักษณะ ทักษะ เจตคติ บทบาทท่าที รูปแบบการดำเนินชีวิต) การจัดการเรียนรู้ การจัดสภาพบรรยากาศ การลงโทษ ให้รางวัล การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การจัดประสบการณ์เสริมการเรียนรู้

ขั้นที่ 5 ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัด

กำหนดตัวชี้วัด แสดงความสำเร็จของการพัฒนาตามลำดับขั้น ทั้งด้านคุณภาพผู้เรียน ปัจจัย กระบวนการ เพื่อช่วยให้ทุกคนมองเห็นภาพงานตลอดแนว โดยระบุระยะเวลาการพัฒนา หรือวันเดือนปี ที่ผลสำเร็จจะปรากฏชัดเจน

ขั้นที่ 6 พัฒนาระบบ ( ประยุกต์จากแนวทางของ TOPSTAR)

พัฒนาทุกระบบทั้งระบบหลักและระบบสนับสนุนของโรงเรียน ที่เชื่อว่ามีส่วนในการเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียน ระบุชื่อระบบ กระบวนการสำคัญ วิธีการมาตรฐาน ตัวชี้วัด เกณฑ์ ชื่อแบบบันทึกมาตรฐาน ความสอดคล้องขององค์ประกอบ ข้อกำหนด

ขั้นที่ 7 นำระบบสู่การปฏิบัติ

กำหนดแนวทางนำระบบสู่การปฏิบัติ จัดทำระเบียบปฏิบัติการ ความมุ่งหมายของระบบ ขอบข่าย คำจำกัดความ ความรับผิดชอบ รายละเอียดของการปฏิบัติ บันทึกมาตรฐาน เขียนคู่มือระบบ เพื่อทำแนวปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ให้ทุกฝ่ายรับรู้และเข้าใจตรงกัน ระบุชื่อระบบ วัน เดือน ปี ที่ใช้ ความหมาย วัตถุประสงค์ ขอบข่าย นิยามศัพท์ ความรับผิดชอบ วิธีการปฏิบัติ บันทึกมาตรฐาน ขั้นที่ 8 ปฏิบัติจริง เรียนรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ อย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง จริงจัง จริงใจ
ประเมินปรับปรุง เรียนรู้และพัฒนาด้วยกัน ชื่นชมความสำเร็จและภาคภูมิใจร่วมกัน ถ้าบุคลากรทุกฝ่าย ของโรงเรียนเป็นแบบอย่างที่ดี มีรูปแบบการดำเนินชีวิต และแสดงออกถึงความสัมพันธ์ต่อคนต่อสรรพสิ่ง โดยยึดหลักคุณธรรม หลักความพอเพียง ในทุกเรื่อง ทุกอย่าง โรงเรียนมีระบบการบริหาร การจัดการเรียนรู้ ฯลฯ ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้อง เกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาคุณธรรมและค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียง มีบรรยากาศที่เอื้อให้นักเรียนเรียนรู้ และฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างค่อเนื่อง จริงจังตามสภาวะปกติ ด้วยการใช้สติปัญญาคิดพิจารณาเหตุผล ความถูกต้องเหมาะสมด้วยตนเอง ปฏิบัติด้วยความจริงใจ เต็มใจ อิ่มเอมใจ ไม่ใช่เพื่อคะแนน ด้วยข้อบังคับ กฎระเบียบ แต่ทำเพราะมีฉันทะที่จะทำดี เชื่อมั่นศรัทธาในคุณค่าของความดี มุ่งมั่นที่จะมีชีวิตที่ดีงาม และสามารถเข้าถึงความดีงามที่สูงยิ่งขึ้นไป ความหวังที่จะให้นักเรียนมีคุณธรรมนำความรู้ มีค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียง คงไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอย่างแน่นอน

กลับขึ้นด้านบน

เอกสารอ้างอิง : http://www.nidtep.go.th/buddhism/moral.htm