การสังเกตทางช้างเผือก

          ในคืนที่ฟ้ามืดไร้เมฆ และปราศจากแสงรบกวน เราจะมองเห็นแถบฝ้าสีขาวคล้ายเมฆ พาดยาวข้ามขอบฟ้า มิว่าลมจะพัดแรงเพียงใด แถบฝ้านี้ก็ยังคงอยู่ คนโบราณเรียกแถบฝ้าสว่างนี้ว่า "ทางช้างเผือก" หรือ "ทางน้ำนม" ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ทราบดีแล้วว่า แถบฝ้าสว่างที่เห็น แท้จริงนั่นคือ อาณาจักรของดาวจำนวนมหาศาล ซึ่งเรียกว่า "กาแล็กซี" (Galaxy) กาแล็กซีของเรามีชื่อว่า "กาแล็กซีทางช้างเผือก" (The Milky Way galaxy) ที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะ คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นโอรสของสวรรค์ อวตารลงมาเกิดเป็นมนุษย์ และมีช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมี จึงมีความเชื่อว่ามีทางช้างเผือกอยู่บนสวรรค์
          กาแล็กซีทางช้างเผือกประกอบด้วย ดาวฤกษ์จำนวนนับพันล้านดวง ดาวฤกษ์แต่ละดวงอาจจะมีดาวเคราะห์อีกหลายดวง และระบบสุริยะของเรา ก็เป็นสมาชิกหนึ่งในนั้น   หากส่องกล้องมองไปที่ทางช้างเผือก เราจะเห็นดวงดาวจำนวนมหาศาล มากมายเต็มไปหมดจนนับไม่ถ้วน คล้ายกับจำนวนเม็ดทรายบนชายหาด


ภาพที่ 1 ทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง

           ทางช้างเผือกพาดผ่านกลุ่มดาวสว่างดังนี้ กลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (ค้างคาว) เพอร์เซอุส สารถี คนคู่ กางเขนใต้ แมงป่อง คนยิงธนู นกอินทรี และกลุ่มดาวหงส์ (ดูแผนที่ดาววงกลมประกอบ)   ถ้าหากแกนหมุนของโลกตั้งฉากกับระนาบของกาแล็กซี เราจะมองเห็นทางช้างเผือกเป็นทางยาวคาดท้องฟ้าในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทว่าความเป็นจริง แกนหมุนของโลกทำมุมเอียง กับระนาบของกาแล็กซีประมาณ 60 องศา และโลกก็หมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา   ดังนั้นเราจึงมองเห็นทางช้างเผือกพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศทางการวางตัวบนท้องฟ้า เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา   บางเวลาก็อยู่ในแนวเหนือ-ใต้ บางเวลาก็อยู่ในแนวเฉียง เป็นต้น
          อนึ่ง การสังเกตการณ์ทางช้างเผือก จะทำได้ต่อเมื่ออยู่ในที่มืดสนิด ในชนบท หรือ ป่าเขา ท้องทะเล และไม่มีแสงจันทร์รบกวนเท่านั้น    ดังนั้นในการดูทางช้างเผือก จะต้องมีการเตรียมการวางแผน ศึกษาเวลาการขึ้น-ตกของดวงจันทร์ ซึ่งสามารถคำนวณได้จากปฏิทิน (ดวงจันทร์ขึ้นช้าวันละ 50 นาที) หรือศึกษาด้วยซอฟต์แวร์แผนที่ดาวมาก่อน


ภาพที่ 2  กาแล็กซีทางช้างเผือกเมื่อมองจากอวกาศ

เมื่อมองจากอวกาศ

          กาแล็กซีของเรามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100,000 ปีแสง มีรัศมี 50,000 ปีแสง (1 ปีแสง เท่ากับ ระยะทางซึ่งแสงใช้เวลาเดินทางนาน 1 ปี หรือ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร) และหนาประมาณ 2,000 ปีแสง   ดังนั้นดวงดาวบนท้องฟ้าที่เรามองเห็นเป็นกลุ่มดาว ล้วนอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทางไม่เกิน 2,000 ปีแสงทั้งนั้น   เมื่อเรามองไปตามแนวระนาบของทางช้างเผือก เราจะมองเห็นฝ้าขาวสว่างของดาวในทางช้างเผือก ซึ่งอยู่ห่างไกลนับหมื่นปีแสง และเมื่อมองไปในทิศระหว่าง กลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู จะเห็นว่าทางช้างเผือกในบริเวณนั้น กว้างใหญ่และสว่างเป็นพิเศษ ทั้งนี้เป็นเพราะเรากำลังมองเข้าไปตรงศูนย์กลางของกาแล็กซี
          ทางช้างเผือกมิใช่มีแต่เพียงฝ้าสว่างสีขาว แต่ยังมีฝ้าทึบสีดำด้วย ในบางบริเวณของกาแล็กซีมีก๊าซและฝุ่นอยู่อย่างหนาทึบ ดังเช่น บนระนาบของกาแล็กซี สสารอุณหภูมิต่ำเหล่านี้ บดบังความสว่างของดาวที่อยู่เบื้องหลัง (ในทำนองเดียวกับเนบิวลามืด ซึ่งบังแสงของดาวสว่าง)   เมื่อมองดูด้วยตาเปล่า เราจึงอาจเข้าใจผิดว่า คิดว่ามีช่วงว่างของอวกาศ แทรกอยู่ระหว่างทางช้างเผือก แต่เมื่อศึกษาด้วยภาพถ่ายแล้ว จะพบว่า สีดำที่เห็นเหล่านั้น ล้วนเป็นกลุ่มก๊าซอันหนาทึบ (ภาพที่ 2)