|
ภาพที่
1 ดาวหาง
ดาวหางประกอบด้วยฝุ่นและน้ำแข็งสกปรก
เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ น้ำแข็งจะระเหิด กลายเป็นหางก๊าซและหางฝุ่นให้เราเห็นเป็นทางยาว
ดาวหางที่มีคาบการโคจรสั้นก็จะวนเวียนอยู่ภายในระบบสุริยะ แต่ดาวหางส่วนใหญ่จะมาจากบริเวณขอบนอกของระบบสุริยะที่เรียกว่า
แถบคุยเปอร์ (Kuiper's belt) ที่เป็นบริเวณตั้งแต่ วงโคจรของดาวพลูโตออกไป
เป็นระยะทาง 500 AU จากดวงอาทิตย์ และเมฆออร์ต (Oort Cloud) ที่อยู่ถัดจากแถบคุยเปอร์ออกไปถึง
50,000 AU จากดวงอาทิตย์การเกิดหางของดาวหาง
เมื่อดาวหางอยู่ที่บริเวณขอบนอกระบบสุริยะ
จะเป็นเพียงก้อนน้ำแข็งสกปรกที่ไม่มีหาง นิวเคลียส (nucleus) ประกอบไปด้วยน้ำแข็ง
คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย และมีเปลือกแข็งที่มีเศษฝุ่นปะปนอยู่กับน้ำแข็ง
เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์น้ำแข็งเหล่านี้ จะระเหิดกลายเป็นก๊าซ
โดยเฉพาะบริเวณที่รับแสงอาทิตย ์จะมีการประทุของก๊าซอย่างรุนแรง ปรากฏอยู่ล้อมรอบนิวเคลียสเรียกว่า
โคมา (coma) ก๊าซเหล่านี้จะถูกลมสุริยะพัดออกไปเป็นทางยาว ในทิศทางตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์กลายเป็นหางก๊าซ
(gas tail) แสงสีต่างๆ ที่ปรากฏบนหางก๊าซ เกิดจากโมเลกุลก๊าซเรืองแสงหลังจากได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์
คล้ายกับการเรืองแสงของก๊าซนีออน ในหลอดฟลูออเรสเซน หางฝุ่น (dust
tail) ของดาวหาง เกิดจากฝุ่นที่พุ่งออกมาจากนิวเคลียส ถูกแรงดันจากแสงอาทิตย์ผลักออกจากดาวหาง
ฝุ่นเหล่านี้สามารถสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ได้ดี จึงปรากฏเป็นทางโค้งสว่างให้เห็นตามแนวทิศทางของวงโคจร
นิวเคลียสของดาวหางมีเส้นผ่านศูนย์กลางโดยทั่วไปประมาณ
10 กิโลเมตร ส่วนโคมาของดาวหางโดยทั่วไป แผ่ออกไปกว้างเป็นรัศมีถึงหลายแสนกิโลเมตร
และหางของดาวหางนั้นโดยทั่วไปมีความยาวถึง 100 ล้านกิโลเมตร พอๆ กับระยะห่างระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์
การสังเกตดาวหาง
ดาวหางบางดวงมีความสว่างมากจนเราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ดาวหางโดยทั่วไปนั้นจะคล้ายกับดาวที่ขุ่นมัว หางจะปรากฏเป็นทางยาวเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
การบันทึกภาพดาวหางนั้นทำได้โดยการเปิดหน้ากล้องไว้ประมาณ 2-3 นาที
ก็จะได้ภาพที่สวยงามดังภาพตัวอย่าง
© 2003 - 2010 The LESA Project
All rights reserved.
|
|