ดาวพุธ (Mercury)


ภาพที่1 ดาวพุธ

          ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก และไม่มีดวงจันทร์บริวาร โครงสร้างภายในของดาวพุธประกอบไปด้วย แกนเหล็กขนาดใหญ่มีรัศมีประมาณ 1,800 ถึง 1,900 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชั้นที่เป็นซิลิเกท (ในทำนองเดียวกับที่แกนของโลกถูกห่อหุ้มด้วยแมนเทิลและเปลือก) ซึ่งหนาเพียง 500 ถึง 600 กิโลเมตร บางส่วนของแกนอาจจะยังหลอมละลายอยู่

          ดาวพุธถูกเยี่ยมเยือนด้วยยานอวกาศเพียงลำเดียวคือ ยานมารีเนอร์ 10 ในปี พ.ศ. 2517 ซึ่งได้ทำการสำรวจ และทำแผนที่พื้นผิวดาวพุธเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก จึงสามารถทำแผนที่ได้เพียงร้อยละ 45 ของพื้นที่ทั้งหมด

          พื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมบ่อมากมาย คล้ายกับพื้นผิวดวงจันทร์ มีเทือกเขาสูงใหญ่ และแอ่งที่ราบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป แอ่งที่ราบแคลอริสเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,300 กิโลเมตร  นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า แอ่งที่ราบขนาดใหญ่นี้เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตในยุคเริ่มแรกของระบบสุริยะ

ภาพที่ 2 พื้นผิวเต็มไปด้วยหลุมอุกาบาต คล้ายกับดวงจันทร์ของเรา

          ดาวพุธไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม และการที่ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก ทำให้อุณหภูมิที่พื้นผิวดาวพุธ ในเวลากลางวันและกลางคืน แตกต่างกันมากถึง 600 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิในเวลากลางวันสูงถึง 430 องศาเซลเซียส และลดลงเหลือ –180 องศาเซลเซียส ในเวลากลางคืน