โลกของเราเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยะ
ที่มีสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่
3 และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมดในระบบสุริยะ ชั้นบรรยากาศของโลกประกอบไปด้วยไนโตรเจน 77 % ออกซิเจน 21% ที่เหลือเป็น อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยในการกักเก็บความร้อนไว้ภายใต้ชั้นบรรยากาศ โดยอาศัยสภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกมีความอบอุ่น ไม่หนาวเย็นจนเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม ถ้าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากจนเกินไป ก็จะทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้เช่นกัน นอกจากนี้ โลกยังมีสนามแม่เหล็ก ที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ถึงแม้ว่าจะมีความเข้มไม่มากนัก แต่ช่วยปกป้องมิให้อนุภาคที่มีพลังงานสูงจากอวกาศเดินทางผ่านมาที่ผิวโลกได้ โดยสนามแม่เหล็กจะกักให้อนุภาค เดินทางไปตามเส้นแรงแม่เหล็ก และเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ เพียงที่ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้เท่านั้น ซึ่งเป็นตำแหน่งของขั้วแม่เหล็กโลกนั่นเอง เมื่ออนุภาคเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับโมเลกุลก๊าซในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดแสงสีสวยงาม สังเกตเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืน เรียกว่า "แสงเหนือแสงใต้" (Aurora) ตามบริเวณที่ปรากฏนั่นเอง ดวงจันทร์ (The Moon)
ดวงจันทร์เป็นบริวารดวงเดียวของโลก
มีพื้นผิวที่เป็นของแข็ง เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตมากมาย แสงจันทร์ที่เรามองเห็นนั้นเป็นแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นผิวดวงจันทร์
ในขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเราจะมองเห็นดวงจันทร์ในลักษณะที่เปลี่ยนไป
ตามปริมาณของบริเวณที่ได้รับแสงและบริเวณด้านมืดที่หันหน้าเข้าหาโลก
เรียกว่า ข้างขึ้นข้างแรม ยานอวกาศลำแรกที่เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ คือ ยานลูนา 2 ของประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2502 และยานอะพอลโล 11 เป็นยานอวกาศลำแรกที่พามนุษย์ไปลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 พบว่าดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม จึงเป็นสาเหตุให้พื้นผิวดวงจันทร์ เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตมากมาย ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เราสามารถมองเห็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ได้ด้วยตาเปล่าคือ บริเวณที่เราจินตนาการว่า เป็นกระต่ายบนดวงจันทร์นั่นเอง นอกจากนี้ยังพบว่าหินบนดวงจันทร์มีอายุมากถึง 3,000 4,600 ล้านปี ซึ่งเก่าแก่กว่าหินบนพื้นโลกมาก ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานที่สำคัญเกี่ยวกับการเกิดของระบบสุริยะในยุคเริ่มแรก
© 2003 - 2010 The LESA Project All rights reserved. |